top of page

บทนำ

ระบบลำเลียงแสงที่ 4.1: สเปกโตรสโกปีและการถ่ายภาพจุลทรรศน์อินฟราเรด  เป็นระบบลำเลียงแสงซินโครตรอนในย่านแสงอินฟราเรดที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และพัฒนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันเพื่อให้บริการเทคนิคอินฟราเรดไมโครสเปกโตรสโกปีในช่วงสเปกตรัมอินฟราเรดย่านกลาง (4,000 - 400 ซม.^(-1) ) แก่ผู้ใช้ทั่วไป โดยอาศัยแสงซินโครตรอนที่ถูกปลดปล่อยจากกลุ่มอิเล็กตรอนที่วิ่งด้วยความเร็วสูงใกล้ความเร็วของแสงผ่านแม่เหล็กเลี้ยวเบนสองขั้ว (Bending magnet) ของเครื่องกำเนิดแสงสยาม I (SPS-I) จากลำแสงซินโครตรอนย่านอินฟราเรดที่มีความเข้มสูงและการทำงานร่วมกับสเปกโตรมิเตอร์ Vertex 70 และ Hyperion 2000 (Bruker) ทำให้สามารถวัดและวิเคราะห์ตัวอย่างได้ด้วยแสงที่มีขนาดตั้งแต่ 5 ถึง 20 ไมครอนบนตัวอย่าง ตัวอย่างที่สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์ เช่น เซลล์สิ่งมีชีวิตเดี่ยว ระบบชีวภาพที่ซับซ้อน สะเก็ดสีหรือตัวอย่างทางโบราณคดี และฟิล์มบาง

เทคนิคอินฟราเรดไมโครสเปกโตรสโกปี เป็นการวัดสเปกตรัมอินฟราเรดจากภาพถ่ายของตัวอย่าง ข้อดีของเทคนิคนี้คือ เป็นเทคนิคที่ไม่ทำลายตัวอย่างในระหว่างการวัด เหมาะสำหรับการศึกษาโครงสร้างทางเคมีที่เกี่ยวข้องกับการสั่นของพันธะเคมีในโมเลกุลของสารตัวอย่าง ซึ่งสเปกตรัมอินฟราเรดจะมีลักษณะเฉพาะที่สามารถระบุหมู่ฟังก์ชัน (Functional Group) ของตัวอย่างได้ ขึ้นอยู่กับชนิดของพันธะเคมีภายในตัวอย่างนั้นๆ เทคนิคนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับตัวอย่างหลากหลายจากด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ  วัสดุศาสตร์ และนิติวิทยาศาสตร์ ตลอดจนธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม และมรดกทางวัฒนธรรม

อนึ่ง ข้อได้เปรียบของการใช้เทคนิคอินฟราเรดไมโครสเปกโตรสโกปีโดยใช้แสงซินโครตรอนย่านอินฟราเรด คือแสงซินโครตรอนเป็นแสงที่มีความเข้มสูงและมีขนาดเล็กระดับไมครอน ทำให้สามารถใช้ในการศึกษาตัวอย่างขนาดจุลภาค หรือช่วยให้สามารถวัดวิเคราะห์ข้อมูลทางเคมีเชิงพื้นที่ในระดับจุลภาคได้โดยให้อินฟราเรดสเปกตรัมที่มีอัตราสัญญาณต่อสัญญาณรบกวนดีขึ้น 

รูปภาพ2.jpg

ตัวอย่างอินฟราเรดสเปกตรัมที่วัดจากของเซลล์มะเร็งชนิดหนึ่ง

bl_specs.jpg

การประยุกต์ใช้ประโยชน์กับงานวิจัย

Image by National Cancer Institute

ด้านชีววิทยาและการแพทย์

ศึกษาลักษณะของเซลล์เดี่ยว การจำแนกสาหร่ายหรือยีสต์ การสร้างภาพจำลองของพันธะเคมี (chemical mapping) ของเซลล์เดี่ยวหรือกลุ่มเซลล์ร่วม รวมทั้งการวิเคราะห์ผลของยาหรือสารออกฤทธ์ทางชีวภาพต่อการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีของตัวอย่าง

Image by Vitor Paladini

ด้านธรณีวิทยาและโบราณคดี

การสร้างภาพจำลองของพันธะเคมี (chemical mapping) ของ องค์ประกอบทางเคมีในตัวอย่าง  การติดตามการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบทางเคมีของตัวอย่าง

Image by Nanxi wei

ด้านวิทยาศาสตร์การอาหาร

การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมี การบ่งชี้ลักษณะเฉพาะของตัวอย่าง

Image by Alexander Andrews

ด้านวัสดุศาสตร์(ฟิล์มบาง) 

การสร้างภาพจำลองของพันธะเคมี (chemical mapping) ของฟิล์มบางหรือวัสดุผสมหลายชั้น

ส่วนสเปกโตรสโกปีและเทคนิคภาพทางชีวภาพ-01.jpg
bottom of page